พลังงานจากลม

พลังงานลม 

พลังงานลม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก เป็นเทคโนโลยีที่ลวงตาว่าเรียบง่าย เบื้องหลังอาคารสูง เพรียว และใบพัดที่หมุนอย่างสม่ำเสมอ คือ วัสดุน้ำหนักเบาที่ทำงานร่วมกันอย่างซับซ้อน การออกแบบด้านการเคลื่อนไหวของอากาศ และ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ควบคุมโดยคอมพิวเตอร์ พลังงานถูกส่งถ่ายจากปีกหมุน ผ่านเกียร์ ซึ่งบางครั้งปฏิบัติงานในความเร็วที่ไม่แน่นอน จากนั้นส่งไปยังเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (กังหันลมบางตัวไม่ส่งผ่านเกียร์แต่ใช้การขับเคลื่อนโดยตรงแทน)

 

พลังงานลมในปัจจุบัน

2 ทศวรรษแห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดกังหันลมที่ทันสมัยที่มีอุปกรณ์ทำงานร่วมกันได้และติดตั้งได้รวดเร็ว ในปัจจุบัน กังหันลมสมัยใหม่เพียงตัวเดียวมีพลังมากกว่ากังหันลมขนาดเท่ากันเมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว 100 เท่า และปัจจุบันฟาร์มกังหันลมให้พลังงานมากเท่ากับโรงไฟฟ้าทั่วไป  ภายในต้นพ.ศ. 2546 การติดตั้งพลังงานลมสูงขึ้นสู่ระดับ 40,300 เมกะวัตต์ ซึ่งให้พลังงานมากพอที่จะตอบสนองความต้องการของครัวเรือนทั่วไปในยุโรปประมาณ 19 ล้านครัวเรือน ซึ่งใกล้เคียง 47 ล้านคน

 

 

2552-2-2-03

 

 

  ในขณะที่ตลาดพลังงานลมเติบโต พลังงานลมมีค่าใช้จ่ายในการผลิตลดลง 50% ใน 15 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันกังหันลมในสถานที่ที่เหมาะสมที่สุดสามารถแข่งขันกับโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน และในบางสถานที่สามารถเป็นคู่แข่งกับก๊าซได้

 

พลังงานลมภายในพ.ศ. 2563

  เนื่องจากพลังงานลมที่ติดตั้งแล้วมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น 30% ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นไปได้อย่างแท้จริงที่จะตั้งเป้าหมายให้ลมผลิตพลังงาน 12% ของพลังงานทั้งโลก ภายในพ.ศ. 2563 ในช่วงที่พลังงานลมผลิตพลังงาน จะสร้างงานให้คน 2 ล้านคน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า 10,700 ล้านตัน  ขนาดและกำลังการผลิตของกังหันลมโดยทั่วไปที่ได้รับการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องทำให้ภายในพ.ศ. 2563 ราคาของพลังงานลมที่ตั้งอยู่ในสถานที่เหมาะสมคาดว่าจะตกลงไปอยู่ที่ 2.45 ยูโรเซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่า 3.79 ยูโรเซ็นต์ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง ในพ.ศ. 2546 เท่ากับ 36% ค่าใช้จ่ายนี้ไม่รวมการเชื่อมต่อกับสายส่งไฟฟ้า แต่มัีนเป็นปัจจัยหนึ่งสำหรับสถานีพลังงานเกือบทุกชนิด ไม่ใช่เพียงพลังงานลม

 

พลังงานลมหลังพ.ศ. 2563

  ทรัพยากรพลังงานลมของโลกมีจำนวนมากมายมหาศาลและกระจายไปเกือบทุกภูมิภาคและประเทศต่างๆ การใช้เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้พลังงานลมสามารถผลิตพลังงานได้ประมาณ 53,000 เทราวัตต์ชั่วโมง (TWh) ต่อปี ซึ่งมากกว่าความต้องการพลังงานของโลกที่คาดการณ์ไว้ในพ.ศ. 2563 มากกว่า 2 เท่า ทำให้อุตสาหกรรมพลังงานลมมีโอกาสเติบโตสูงแม้ในหลายทศวรรษจากปัจจุบัน สหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียวมีศักยภาพการผลิตพลังงานลมเพื่อตอบสนองความต้องการพลังงานในประเทศได้มากกว่า 3 เท่า

ข้อดีของพลังงานลม

- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน นี่เป็นประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญที่สุดของการผลิตพลังงานลม นอกจากนี้พลังงานลมยังปราศจากสารก่อมลพิษอื่นๆ ที่เกิดจากเชื้อเพลิงฟอสซิลและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกด้วย

- มีความสมดุลด้านพลังงานที่ดีเยี่ยม - การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ที่เกิดจากการผลิต ติดตั้ง และให้บริการของกังหันลมที่มีช่วงอายุโดยเฉลี่ย 20 ปีถูก "ทดแทน" หลังดำเนินการผลิต 3-6 เดือน ซึ่งเท่ากับการผลิตพลังงานมากกว่า 19 ปีโดยแทบไม่มีค่าใช้จ่ายด้านสิ่งแวดล้อมเลย

- ดำเนินงานได้รวดเร็ว - ฟาร์มกังหันลมสามารถสร้างเสร็จสิ้นภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยใช้รถเครนติดตั้งหอคอยของกังหันลม ส่วนเชื่อมต่อกับปีกหมุน (โครงยึด) และ ใบพัดเหนือฐานคอนกรีตเสริมกำลัง ด้วยเงินลงทุนที่เท่ากัน พลังงานลมสร้างงานมากกว่าเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 5 เท่า และผลิตพลังงานได้มากกว่า 2.3 เท่า

- เป็นแหล่งพลังงานที่น่าเชื่อถือและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เนื่องจากลมที่ใช้ขับเคลื่อนกังหันลมไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดกาล และไม่ถูกกระทบโดยราคาของเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขึ้นๆ ลงๆ นอกจากนี้ยังไม่ต้องอาศัยการทำเหมือง ขุดเจาะ หรือ ขนส่งไปยังสถานีจ่ายไฟฟ้า ในขณะที่ราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลสูงขึ้น คุณค่าของพลังงานลมก็สูงขึ้นเช่นกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายของการผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานลมมีแต่จะลดลง  

 

  นอกจากนี้ในโครงการใหญ่ๆ ที่ใช้กังหันลมขนาดกลางที่ได้รับการทดสอบประสิทธิภาพ จะมีศักยภาพในการปฏิบัติงาน 98% อย่างสม่ำเสมอโดยอาศัยลม ซึ่งหมายถึงต้องซ่อมแซมเป็นระยะเวลาเพียง 2% ซึ่งเป็นประสิทธิภาพการทำงานที่สูงกว่าประสิทธิภาพที่คาดหวังได้จากโรงไฟฟ้าทั่วไปอย่างมาก

 

ความไม่แน่นอนของพลังงานลม

  ความไม่แน่นอนของพลังงานลมสร้างปัญหาน้อยกว่าการจัดการสายส่งไฟฟ้าที่ผู้สงสัยในเรื่องนี้ได้คาดไว้มาก ความต้องการพลังงานที่ขึ้นลงไม่แน่นอนและความผิดพลาดจากโรงไฟฟ้าทั่วไปที่จำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นทำให้ต้องอาศัยระบบสายส่งไฟฟ้าที่ยืดหยุ่นมากกว่าพลังงานลม และประสบการณ์การใช้งานจริงแสดงให้เห็นว่าระบบไฟฟ้าในประเทศสามารถปฏิบัติงานส่งไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ ตัวอย่างเช่น ในคืนวันลมแรง กังหันลมผลิตไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 50% ในทางตะวันตกของเดนมาร์ก แต่งานที่มากเช่นนั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่าจัดการได้  นอกจากนี้ การสร้างสายส่งไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงยังลดปัญหาความไม่แน่นอนของลม โดยทำให้ความเร็วลมเปลี่ยนแปลงในหลายๆ พื้นที่ เพื่อทำให้แต่ละที่สมดุลซึ่งกันและกัน

 

มุ่งไปข้างหน้า

  แม้ว่าพลังงานลมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สามารถรับรองได้ว่าพลังงานลมจะมีอนาคตที่สดใส แม้ว่าปัจจุบันมีการผลิตพลังงานลมแล้วใน 50 ประเทศ แต่ความก้าวหน้าของพลังงานลมจนถึงปัจจุบันเกิดขึ้นจากความพยายามของไม่กี่ประเทศ โดยผู้นำ คือ เยอรมนี สเปน และ เดนมาร์ก ประเทศอื่นๆ จำเป็นต้องปรับปรุงอุตสาหกรรมพลังงานลมอย่างมากหากต้องการบรรลุเป้าหมายทั่วโลก ด้วยเหตุนี้การคาดการณ์ว่าจะมีการใช้พลังงานลม 12% ของพลังงานโลกภายในพ.ศ. 2563 จึงเป็นเรื่องไม่แน่นอน แต่เป็นเป้าหมาย นั่นคือ เป็นอนาคตที่เป็นไปได้ที่เราสามารถเลือกถ้าเราเต็มใจ

 

 

แหล่งข้อมูล : Greenpeace